" พิพิธภัณฑ์ รัชกาลที่ 6 "
          เป็นพิพิธภัณฑ์ที่อยู่ในความดูแลของหน่วยบัญชาการรักษาดินแดน ตั้งอยู่ ณ อาคารราชวัลลภ ซึ่งเป็นอาคารโบราณสถาน สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2466 เพื่อเป็นโรงทหารสำหรับกองพันที่ 1 กรมทหารบกราบที่ 1 มหาดเล็กรักษาพระองค์ ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 พระราชทานนามอาคาร และได้เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดอาคารอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 15 เมษายน พ.ศ. 2467

          พระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราวุธ พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว พระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 6 แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ เสด็จพระราชสมภพเมื่อวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2423 ทรงเป็นพระราชโอรสพระองค์ที่ 29 ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสวยราชสมบัติเมื่อวันที่ 23 ตุลาคม พ.ศ. 2453 เสด็จสวรรคตเมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2468 พระชนมพรรษา 45 พรรษา เสด็จดำรงราชสมบัติรวม 15 ปี
          พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระอัจฉริยภาพและทรงบำเพ็ญพระราชกรณียกิจในหลายสาขา ทั้งด้านการเมือง การปกครอง การทหาร การศึกษา การสาธารณสุข เศรษฐกิจ การต่างประเทศ ขนบธรรมเนียมประเพณี ด้านอักษรศาสตร์ พระราชนิพนธ์บทร้อยแก้วและร้อยกรองไว้นับพันเรื่อง ทรงได้รับการถวายพระราชสมัญญาเมื่อเสด็จสวรรคตแล้วว่า “สมเด็จพระมหาธีรราชเจ้า”
          พระองค์ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ในราชวงศ์จักรีพระองค์แรกที่ไม่มีวัดประจำรัชกาล แต่ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาโรงเรียนมหาดเล็กหลวง หรือวชิราวุธวิทยาลัยในปัจจุบัน ด้วยพระราชดำริว่าพระอารามนั้นมีมากแล้ว และการสร้างอารามในสมัยก่อนนั้นก็เพื่อบำรุงการศึกษาของเยาวชนของชาติ จึงพระราชดำริให้สร้างโรงเรียนขึ้นแทน
          ใน พ.ศ. 2524 องค์การศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) ได้ยกย่องพระเกียรติคุณของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ว่าทรงเป็นบุคคลสำคัญของโลก ผู้มีผลงานดีเด่นด้านวัฒนธรรม ในฐานะทรงเป็นนักปราชญ์ นักประพันธ์ กวี และนักแต่ง บทละครไว้เป็นจำนวนมาก

          พิพิธภัณฑ์รัชกาลที่ 6 ก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ. 2509 โดย พลโท ยุทธ สมบูรณ์ เจ้ากรมการรักษาดินแดน ในขณะนั้น ได้ทำหนังสือขอพระราชทานสิ่งของเครื่องใช้ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว จากสำนักพระราชวัง เพื่อจัดตั้งเป็นพิพิธภัณฑ์
          มีการปรับปรุงพิพิธภัณฑ์หลายครั้ง โดยครั้งที่สำคัญคือในช่วงปี พ.ศ. 2542-2543 สมัยที่ พลโท หาญ เพไทย เป็นเจ้ากรมการรักษาดินแดน ต่อมาในปี พ.ศ. 2550 พลโท สมเกียรติ สุทธิไวยกิจ ผู้บัญชาการหน่วยบัญชาการกำลังสำรอง ได้ดำริให้จัดทำโครงการปรับปรุงพิพิธภัณฑ์รัชกาลที่ 6 เพื่อเป็นการเทิดพระเกียรติและเฉลิมฉลองเนื่องในโอกาสที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรทรงเจริญพระชนมพรรษาครบ 80 พรรษา โดยเชิญเจ้าหน้าที่จากกรมศิลปากรมาเป็นผู้ออกแบบปรับปรุง ให้คำแนะนำ และกำกับดูแลการจัดแสดงให้เป็นพิพิธภัณฑ์แห่งการเรียนรู้ที่ถูกต้องตามหลักการ

          พิพิธภัณฑ์รัชกาลที่ 6 ประกอบด้วยห้องจัดแสดง 2 ชั้น โดยชั้นที่ 2 ห้องพระบารมีปกเกล้า เป็นพื้นที่แห่งการเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ประดิษฐานพระบรมรูปเหมือนรัชกาลที่ 6 ทรงเครื่องพระมหาพิชัยยุทธ อันเป็นเครื่องทรงที่ถูกต้องตามตำรายุทธนาการโบราณราชประเพณี ส่วนจัดแสดงนี้ประกอบด้วยโถงต้อนรับ บรรเลงเพลงสรรเสริญเสือป่าเพื่อสักการะก่อนเข้าชมนิทรรศการ และใช้เป็นโถงในการประกอบพิธีสำคัญต่างๆ ด้วย

          ภายในห้องใช้สื่อมัลติมีเดียในการนำเสนอเนื้อหาเกี่ยวกับพระราชกรณียกิจที่สำคัญในรัชสมัย ทั้งด้านความมั่นคงและด้านสังคมวัฒนธรรม และมีพื้นที่จัดแสดงเครื่องใช้ส่วนพระองค์ประเภทพระแท่นสนาม พระเก้าอี้ ประกอบภาพการเสด็จฯ ทอดพระเนตรการซ้อมรบเสือป่า ณ ค่ายหลวงบ้านไร่ อ.โพธาราม จังหวัดราชบุรี เมื่อปี พ.ศ. 2462 และจอภาพให้ความรู้เรื่องกิจการเสือป่า ซึ่งเป็นรากฐานของกำลังสำรองในปัจจุบัน รวมถึงจัดแสดงหนังสือบทพระราชนิพนธ์ในพระองค์ สมุดบันทึกลายพระหัตถ์ทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ

          ส่วนชั้นที่ 3 ห้องรามจิตติ เป็นห้องจัดแสดงเครื่องใช้ส่วนพระองค์ อาทิ ฉลองพระองค์เครื่องแบบทหาร ฉลองพระองค์ลำลอง พระมาลา ฉลองพระบาท และเครื่องหมายต่างๆ ซึ่งหน่วยบัญชาการรักษาดินแดนได้รับมอบจากสำนักพระราชวังตั้งแต่ปี พ.ศ. 2509 จัดแสดงไว้ในตู้กระจกใส และตู้ลิ้นชักไม้ซึ่งสามารถเปิดออกมาชมได้ ที่ตู้จัดแสดงมีช่องระบายอากาศเล็กๆ เพื่อให้อากาศถ่ายเท มีตะแกรงกับฝุ่นกันแมลงและใช้สารดูดความชื้น เพื่อรักษาของใช้ส่วนพระองค์ให้อยู่ในสภาพสมบูรณ์ที่สุด

          ฉลองพระองค์ที่มีความหมายและมีความสำคัญมากชุดหนึ่ง คือ ฉลองพระองค์เครื่องแบบนายพลเอกพิเศษแห่งกองทัพบกอังกฤษ ซึ่งสมเด็จพระเจ้าจอร์จที่ 5 แห่งสหราชอาณาจักรได้พระราชทานเป็นที่ระลึกหลังจากที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชทานเงินช่วยเหลือชาวอังกฤษที่ได้รับผลกระทบจากสงครามโลกครั้งที่ 1

          จากพื้นที่จัดแสดงฉลองพระองค์ เดินลึกเข้าไปสู่ห้องทรงงาน เป็นที่ประดิษฐานพระบรมรูปเหมือน รัชกาลที่ 6 ทรงชุดเสือป่าราบหลวง ซึ่งจัดทำขึ้นใหม่ จำลองบรรยากาศห้องทรงงานของพระองค์ท่าน และเป็นพื้นที่เก็บรักษาธงยุวชนนายทหาร ทั้งที่เป็นธงประจำกอง ซึ่งมีสถานะเทียบเท่าธงชัยเฉลิมพลของหน่วยทหารและธงยุวชนทหาร ประจำจังหวัด ซึ่งเป็นธงพระราชทาน โดยพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร รัชกาลที่ 8
          มองออกไปนอกหน้าต่างห้องทรงงาน เป็นระเบียงกว้าง ซึ่งสามารถเดินออกไปชมความงดงามของพระบรมมหาราชวังได้อย่างใกล้ชิด เป็นจุดชมวิวสำคัญที่สร้างความประทับใจให้ผู้มาเยือนได้ทุกคน

          ด้านหน้าห้องรามจิตติมีรูปหล่อพระภิกษุพระยานรรัตนราชมานิต หรือที่เรียกขานกันว่า“เจ้าคุณนรฯ” ท่านเคยเป็นมหาดเล็กรับใช้ใกล้ชิดเบื้องพระยุคลบาท ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น พระยานรรัตนราชมานิต (พระยาพานทอง) และได้รับแต่งตั้งเป็นองคมนตรี เมื่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จสวรรคต ท่านได้อุปสมบทถวายเป็นพระราชกุศล และครองสมณเพศจนมรณภาพ
          “พิพิธภัณฑ์รัชกาลที่ 6” หน่วยบัญชาการรักษาดินแดน ตั้งอยู่ถนนเจริญกรุง ตรงข้ามวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม (วัดโพธิ์) เปิดให้เข้าชมทุกวันจันทร์ถึงวันศุกร์ เวลา 08.30 น. ถึง 16.00 น. หยุดวันเสาร์ อาทิตย์ และวันหยุดนักขัตฤกษ์ การเข้าชมไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายแต่อย่างใด นักท่องเที่ยว ผู้สนใจสามารถติดต่อขอแลกบัตรกับเจ้าหน้าที่ทหารที่ป้อมยามหน้าประตูทางเข้าได้เลย หากต้องการเข้าชมเป็นหมู่คณะ หรือนำนักเรียนไปทัศนศึกษาควรติดต่อทางพิพิธภัณฑ์ล่วงหน้า เพื่อจัดเตรียมเจ้าหน้าที่นำชม ติดต่อสอบถามเพิ่มเติมได้ที่กองยุทธการและการข่าว หน่วยบัญชาการรักษาดินแดน หมายเลขโทรศัพท์ 0-2221-4870
ติดต่อเรา
ระเบียบ / คำสั่ง / คู่มือ
เว็บไซต์แนะนำ
โปรแกรมสถานศึกษาวิชาทหาร
โปรแกรมกำลังสำรอง
โปรแกรมกิจการสัสดี

Follow Us      

callcenterv3